ควนลังเฮ! เจรจาผ่าน ‘ขยะ’ หาดใหญ่ไปทิ้งบ้านพรุ
‘จีเทค’ พบทางออก ย้ายขยะเมืองหาดใหญ่ ไปทิ้งบ่อใหม่ที่บ้านพรุ เทศบาลฯ ‘อึดอัด’ ขานรับเพราะจังหวัดเป็นคนสั่ง
กรณีประชาชนและหน่วยงานราชการ ในพื้นที่ ต.ควนลัง อ้างว่าได้รับผลกระทบ ทางมลพิษ จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่ ที่ดำเนินการโดยบริษัท จีเคด จำกัด ตั้งอยู่ ถนนสายสนามบิน – ลพบุรีราเมศวร์ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนได้รับความเดือนร้อนจากกลิ่นเหม็น ซึ่งตลอดระยะเวลา กว่า 1 ปี ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาแต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็นได้ และปัญหาเตาเผาขยะได้
จนกระทั่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาได้ใช้อำนาจตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งให้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ หาดใหญ่ หยุดประกอบกิจการบางส่วน (เตาเผาขยะ) เป็นการชั่วคราว และให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเตาเผา และแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็น ซึ่งเกิดจากกองขยะใหม่ที่เข้ามาตกค้างเนื่องจากเตาเผาไม่สามารถเดินเครื่องได้ บวกกับขยะที่เข้ามาสะสมเพิ่มอีกประมาณ 300 ตัน/วัน ทำให้ขณะนี้มีปริมาณขยะใหม่ตกค้างกว่า 2,000 ตัน และมีแนวโน้มปริมาณขยะตกค้างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2560 นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้นั่งเป็นประธาน ในการประชุมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พร้อมกับตัวแทนจากบริษัทจีเคด จำกัด เข้าร่วมประชุมหารือ ที่ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยในที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการการกำจัดภูเขาขยะ ซึ่งเป็นขยะเก่าที่ตกค้างมานานกว่า 20 ปี ซึ่งขณะนี้ อบจ.สงขลา ได้รับเป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหานี้ โดยการเคลียร์พื้นที่กองขยะเพื่อดำเนินปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยรอบให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อยใจของคนในพื้นที่
ส่วนประเด็นที่สองในที่ประชุม เป็นการแก้ไขปัญหา เตาเผาขยะ ของบริษัทฯ และกลิ่นเหม็นจากกองขยะใหม่ ภายในโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ที่มีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้น 300 ตัน/วัน ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ทัน ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอให้บริษัทฯ จัดหาสถานที่ใหม่เพื่อรองรับการทิ้งขยะจากเทศบาลนครหาดใหญ่และบริเวณรอบนอกที่เข้ามาทุกวัน เพื่อบรรเทาปริมาณขยะเพิ่มในโรงไฟฟ้าฯ และลดกลิ่นเหม็น โดยมติที่ประชุมเห็นด้วยที่จะให้บริษัทฯเจรจากับเทศบาลเมืองบ้านพรุในการนำขยะไปทิ้งเป็นการชั่วคราว โดยมีท้องถิ่นจังหวัดสงขลา เป็นผู้ประสานงาน ในการเจรจา
ล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงในเทศบาลเมืองบ้านพรุ กล่าวว่า ขณะนี้ทางเทศบาลได้รับหนังสือขอความร่วมมือ ในการแก้ปัญหาขยะจากทางจังหวัดแล้ว และยินดีที่จะช่วยแก้ไขโดยการอนุญาตให้นำขยะมาทิ้งที่บ่อบ้านพรุ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ ได้เพียง 1 เดือน
แต่อย่างไรก็ตาม ได้นำเรียนจังหวัดไปแล้วว่า ยินดีที่จะช่วยเหลือเพียงแค่บางส่วนที่สามารถนำมาทิ้งที่นี้ได้ หากจะรับมาหมด 300 ตัน/วัน คงไม่ไหว เนื่องจากบ่อขยะสามารถรองรับขยะได้อีกแค่ 6 หมื่นตัน อีกทั้งขยะที่เข้ามาทุกวันๆละ 80 ตัน ซึ่งเกรงว่าหากรับมาทั้งหมด บ่อขยะบ้านพรุอาจจะมีปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องมวลชน จึงให้กระจายไปยังบ่อเทศบาลนครสงขลา ที่เกาะแต้ว และ เทศบาลเมืองสะเดา
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บ่อขยะบ้านพรุ พบว่า เป็นบ่อขยะแบบฝังกลบ บนพื้นที่ 107 ไร่ ประกอบด้วย บ่อฝั่งกลบขยะ 5 บ่อ บ่อบำบัดน้ำเสีย 3 บ่อ อาคารสำนักงาน อาคารเครื่องชั่ง และโรงจอดเครื่องจักร ซึ่งขณะนี้ใช้พื้นที่ไปแล้วประมาณ 40 ไร่ มีขยะเข้าไปทิ้งวันละ 80 ตัน จากเทศบาลเมืองบ้านพรุ เทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลตำบลพะตง เทศบาลตำบลบ้านไร่ และองค์การบริหารส่วนตำบลพะตง ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ทางบริษัทฯยังไม่ได้เริ่มนำขยะมาทิ้งที่บ่อบ้านพรุ
นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องขยะในจังหวัดสงขลา ที่มีอยู่ทั้งหมด 28 บ่อ และสำหรับอ.หาดใหญ่ และจ.สงขลานั้น ขณะนี้มีขยะร่วม 2 ล้านกว่าตัน ยังไม่นับอีก 26 บ่อ เพราะการจัดการในเรื่องของขยะนั้นไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาทาง อบจ.สงขลา ได้เข้าไปทำที่ ต.บ้านพรุ ไว้ 3 บ่อ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในพื้นที่บริเวณบ้านพรุ และบริเวณใกล้เคียง และอีกโซน ที่ทางอบจ.สงขลาจะเข้าไปทำคือ คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งยังไม่มีบ่อขยะ
นายนิพนธ์ยังกล่าวต่อว่า ในขณะนี้ อบจ.สงขลา มีโครงการที่จะเข้าไปทำแต่มีปัญหาที่เจอ คือปัญหาความยินยอมให้ใช้พื้นที่ จะมีปัญหาในเรื่องของมวลชน ซึ่งต้องมาช่วยกันคิดว่า ต่อไปต้องแก้ไขกันอย่างไรในเรื่องนี้ และถ้าไม่มีบ่อขยะที่ถูกต้องคนก็จะนำไปทิ้งตามสวนยาง
“การกำจัดขยะของ จ.สงขลา ต้องช่วยกันคิดซึ่งโดยหลักแล้วทาง อบจ.สงขลา ยินดีเข้าร่วมในการศึกษาออกแบบ เพื่อการไปของบประมาณที่สำนักงบประมาณ ดังนั้นการที่เราได้คุยกันแล้วมีการศึกษาออกแบบก็จะสามารถนำไปของบประมาณที่สำนักงบประมาณได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เสนอโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยสะสมตกค้างจำนวน 30 พื้นที่ จำนวนขยะ 2,471,840.4 ตัน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับงบประมาณโครงการดังกล่าวในกรอบวงเงินจำนวน 481,042,500 บาท ซึ่งทาง สผ.ได้แจ้งมติของ กก.วจ.จากการประชุมครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 59 จากรายการสำหรับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงและฟื้นฟูสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมของ อบจ.สงขลา ไม่ผ่านการพิจารณาเสนอของบกลาง เนื่องจากไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ ดังนั้นจากการประชุมในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัด จึงได้มีมติในที่ประชุม ให้มีการดำเนินเรื่องของการของบประมาณจากจังหวัดสงขลา ในการกำจัดด้วยวิธีรื้อร่อน ซึ่งขณะนี้ทางเรากำลังดำเนินการอยู่และคิดว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไร” นายนิพนธ์ กล่าว
ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ต่างรู้สึกดีใจที่ทางหน่วยงานราชการเร่งหาทางออกและแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ของบ่อขยะควนลังซึ่งชาวบ้านแถบนี้อดทนมาหลายปี
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 6.7 เมกกะวัตต์
Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=14020